หลักการทรงงานข้อที่ 22 ความเพียร





      ความเพียรนี้หมายถึงความพยามยามให้กิจที่ตนเองประกอบสำเร็จ ความเพียรย่อมเป็นกำลังใหญ่ผลักดันความขี้เกียจความมักง่าย ไม่ให้ปรากฏขึ้นมา เพราะเมื่อกำลังทั้งสองนั้นปรากฏขึ้นก็จะนำพาจิตใจให้มีความรู้สึกโน้มเอียงไปในทางกำลังของมัน จะเป็นเหตุให้งานที่ตัวเองประกอบนั้นไม่สำเร็จไปหรือล้มเลิกไปเสีย



(ความเพียร สิ่งดีๆ ที่พระองค์ทรงทำให้เราเห็น)



 “…ความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรม และพึงประสงค์นั้น คือความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไปและระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่อย่างหนึ่งกับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงามให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไปอย่างหนึ่ง ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ถ้าทุกคนในชาติจะได้ตั้งตนตั้งใจอยู่ในความเพียรดังกล่าว ประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้นพร้อมทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม…”

(พระราชดำรัสเรื่องความเพียรพระราชทานในพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ 
เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙  ณ พระที่นั่งกาญจนาภิเษก)

“…การทำงานใดๆ ไม่ว่าเล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก ถ้าย่อหย่อนจากความเพียรแล้ว ยากที่จะให้สำเร็จเรียบร้อยทันเวลาได้ การฝึกฝนความเพียร ถึงหากแรกๆ จะรู้สึกเหนื่อยลำบาก แต่พอได้เพียรจนเป็นนิสัยแล้วก็จะกลับเป็นพลังสำคัญ ที่คอยกระตุ้นเตือนให้ทำงานอย่างจริงจัง ด้วยใจร่าเริง และเมื่อใดพลังของความเพียรนั้นเกิดขึ้น เมื่อนั้นการงานทั้งหลายก็สำเร็จได้โดยง่ายและรวดเร็ว…”

      (พระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๒๒)


แหล่งที่มา http://www.thaigoodview.com/node/202230

Comments

Popular Posts